ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร??

อัพเดทล่าสุด 31 ตุลาคม 2566, 16:40 น.

แชร์ข้อมูล

          สำหรับบางคนเรื่องที่ดินอาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวแต่สำหรับเกษตรกร ผู้ลงทุนอสังหาฯ ผู้กำลังมองหาที่ดินเพื่อทำธุรกิจ รวมถึงการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยฯลฯ วันนี้ทาง MMOC จะพาทุกท่านมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร? สามารถซื้อขายได้ไหม แล้วใครมีสิทธิ์ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. แล้วสามารถสร้างบ้านหรือเลี้ยงสัตว์ได้หรือเปล่าด้วยกันค่ะ

ที่ดิน ส.ป.ก. คือ

      ที่ดิน ส.ป.ก. คือที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่รัฐบาลหรือสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรทำการจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ทำกินของตนเอง โดยจะออกเอกสาร ส.ป.ก. (หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์) โดยจะระบุว่าให้เป็นที่ดินเพื่อการทำกินเท่านั้น โดยเนื้อหาได้ชี้แจ้งรายละเอียดของที่ดิน เช่น ขนาดกี่ไร่ รูปร่างแปลงที่ดิน (ผ่านการรังวัดที่ดินแล้ว) และต้องทำประโยชน์เต็มพื้นที่ (ไม่สามารถทำได้เพียงบางส่วน) เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ถือสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. แล้วนั้นแต่ไม่นำมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง เช่น การทำเกษตรในพื้นที่หรือปล่อยให้ที่ดินรกร้างไปโดยเปล่าประโยชน์จำเป็นต้องส่งคืนที่ดินให้กับราชการทันที

ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายได้ไหม

         หากเป็นแต่เดิมที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ตามมาตรา 39 ระบุว่าที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

         หากมีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก. กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้กำหนดมาตรการหรือโทษตามกฎหมาย โดยผู้ขายต้องเสียสิทธิทำกินในที่ดินที่ได้รับอนุญาตในขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่อาจอ้างการซื้อขายเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ได้นอกจากนั้นผู้ซื้อและผู้ขายอาจต้องรับโทษอาญาถึงจำคุกด้วย

คุณสมบัติผู้ที่สามารถขอครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ได้

  1. ทำอาชีพเกษตรกรและเป็นผู้มีรายได้น้อย คือ ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาทต่อปีทางรัฐบาลจึงต้องจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว (ครอบครัวมีสิทธิรับโอนที่ดิน ส.ป.ก. ได้แก่ สามี ภรรยา บุตร ญาติของเกษตรกร) ผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรก็สามารถขอที่ดิน ส.ป.ก. ได้แต่มีข้อแม้ว่าต้องเรียนจบทางด้านเกษตร (มีฐานะยากจน) ถือว่ามีสิทธิในการขอได้
  2. หน่วยงานของภาครัฐหรือสถาบันเกษตรต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเกษตร และสถานที่ต่างๆเพื่อการเกษตรสามารถขอที่ดิน ส.ป.ก. ได้เพื่อใช้ทำประโยชน์
  3. กิจการที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนเกี่ยวกับการเกษตร อยู่ในหมวดหมู่เกษตร(ไม่รวมนายทุน) หมายถึง การสร้างฝายชะลอน้ำ สระน้ำ ประปา ไฟฟ้า ยุ้งฉาง ถือเป็นพื้นที่สนับสนุนเกษตรกร

ขอที่ดิน ส.ป.ก. ได้กี่ไร่

  1. จำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบครัวเดียวกันเพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม
  2. จำนวนที่ดินไม่เกิน 100 ไร่สำหรับเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกันเพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรมประเภทเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ
  3. จำนวนตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เห็นสมควรสำหรับสถาบันเกษตรกร
  4. ถ้าเป็นที่ดินของรัฐ และมีเกษตรกรถือครองอยู่แล้วเกินจำนวนที่กำหนดก่อนเวลาที่ คปก. กำหนด (พ.ศ.2524) จัดให้ตามจำนวนที่เกษตรกรถือครองได้แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100 ไร่

การมอบหนังสือรับมอบที่ดิน ส.ป.ก.

          เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. จะมีการนัดมอบแปลงที่ดินและมอบหนังสือรับมอบที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2540 ข้อ 5 โดยให้เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการจัดที่ดิน ลงลายมือชื่อในหนังสือรับมอบที่ดินไว้เป็นหลักฐานตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด (แบบ ส.ป.ก. 4-28 ก.)


Ref : สาระอสังหา , ddproperty and SMART FINN